อานาปานสติภาวนามัย
โดย พระสุทธิกรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ วัดอโศการาม สมุทรปราการ
วิธีทำสมาธิเบื้องต้น
ต่อไปนี้จะได้อรรถาธิบายข้อปฏิบัติในทางสมาธิภาวนาว่าจะต้องทำกันอย่างไร ก่อนทีจะทำ กิจเบื้องต้นนั้นให้นั่งคุกเข่าประณมมือด้วยความตั้งใจ นอบน้อมถึงพระรัตนครัย แล้วเปล่งวาจา ดังต่อไปนี้
กล่าวนอบน้อมพระรัตนตรัย
อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบลงหนหนึ่ง นี่ไหว้พระพุทธ)
สาวกขาโต ภควตา ธัมโม,ธัมมัง นมัสสามิ (กราบลงหนหนึ่ง นี้ไหว้พระธรรม)
สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ,สังฆังนะมามิ (กราบลงหนหนึ่ง นี้ไหว้พระสงฆ์)
กล่าวนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ลำดับนี้ ตั้งใจปฏิบัติบูชาด้วย กาย วาจา ใจกล่าวคำนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ หน)
ปฏิญาณตนถือเอาพระรัตตรัยเป็นที่พึ่ง
ปฏิญาณตน ถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ของตนที่เรียกว่า พระไตรสรณคมน์ ว่าตามบาลี ดังนี้
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังหัง สรณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ,ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ,ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ตติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ,ตติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, ตติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
อธิษฐานใจถึงพระไตรสรณคมน์
ต่อจากนั้น ให้อธิษฐานใจถึงพระไตรสรณคมน์ ให้มั่นก่อนว่า
“ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า องค์อรหันต์ผู้ละกิเลสขาดจากสันดาน กับพระธรรมเจ้า กล่าวคือคำสอนของพระองค์ที่เป็นปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม กับพระสังฆเจ้า กล่าวคือ พระโสดา พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกนับถือของข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ตราบเท่าชีวิตของข้าพเจ้านี้แล”
พุทธัง ชีวิตัง ยาวนิพพานัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง ชีวิตัง ยาวนิพพานัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง ชีวิตัง ยาวนิพพานัง สรณัง คัจฉามิ
ตั้งเจตนาวิรัติละเว้นในองค์ศีล
ต่อจากนั้น ให้เจตนาวิรัติละเว้นในส่วนแห่งองค์ศีล๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือ ศีล ๒๒๗ ตามภูมิของตนที่จะสามารถรักษาได้ แล้วว่าคำสมาทานรวมลงในที่แห่งเดียวกันอีกว่า
๑ อิมานิ ปัญจสิกขา ปทานิ สมาทิยามิ ให้ว่า ๓ หน นี้สำหรับศีล ๕ แปลว่าข้าพเจ้าสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย ๕ คือ
๑ ปาณาฯ ไม่ฆ่าสัตว์ ๒ อทินนาฯ ไม่ลักทรัพย์ ๓ กาเมฯ ไม่ประพฤติผิดในกาม ๔ มุสาฯ ไม่กล่าวคำเท็จ
๕ สุราฯ ไม่ดื่มสุราเมรัย ( เป็น ๕ ข้อ)
๒ อิมานิ อัฏฐสิกขา ปทานิ สมาทิยามิให้ว่า ๓ หน สำหรับศีล ๘ แปลว่า ข้าพเจ้าสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย ๘ คือ
๑ ปาณาฯ ไม่ฆ่าสัตว์ ๒ อทินนาฯ ไม่ลักทรัพย์ ๓ อพรหฺมจริยาฯ ไม่ประพฤติร่วมสังวาสกับหญิงชายทั้งปวง ๔ มุสาฯ ไม่กล่าวคำเท็จ ๕ สุราฯ ไม่ดื่มสุราเมรัย ๖ วิกาลโภฯ ไม่กินอาหารในเวลาตะวันบ่ายไปแล้ว ๗ นัจจคีมาลาฯ ไม่ดูการละเล่นและตกแต่งประดับประดาอัตตภาพร่างกาย เพื่อความสวยงามต่างๆ ๘ อุจจาฯ ไม่นั่งนอนบนเตียงตั่ง ที่สูงเกินประมาณ และฟูกเบาะทียัดด้วยนุ่นและสำลี (เป็น ๘ ข้อ)
๓ อิมานิ ทสสิกขา ปทานิ สมาทิยามิให้ว่า ๓ หน นี้สำหรับศีล ๑๐ แปลว่า ข้าพเจ้าสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย ๑๐ คือ ปาณาฯอทินนาฯ มุสาฯสุราฯวิกาลโภฯนัจจคีฯมาลาฯอุจจาฯชาตรูฯ ไม่ให้รับเงินทองใช้สอยด้วยตนเอง (เป็น ๑๐ ข้อ)
๔ ศีล ๒๒๗ ให้ว่าดังนี้
ปาริสุทโธ อหัง ภันเต ปาริสุทโธ ติมัง พุทโธ ธาเรตุ
ปาริสุทโธ อหัง ภันเต ปาริสุทโธ ติมัง ธัมโม ธาเรตุ
ปาริสุทโธ อหัง ภันเต ปาริสุทโธ ติมัง สังโฆ ธาเรตุ
เมื่อทำความบริสุทธิ์ของตนด้วยกาย วาจา ใจ ต่อคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า แล้วกราบลง ๓ หน แล้วจึงค่อยนั่งราบลง ประณมมือไหว้ทำใจให้เที่ยง
เจริญพรหมวิหาร ๔
จากนั้นเจริญพรหมวิหาร ๔ ถ้าแผ่ไปไม่เจาะจงเรียกว่าอัปปมัญญาพรหมวิหาร ว่าดดยคำบาลีย่อๆ ให้สะดวกแก่ผู้จำยากก่อน ดังนี้เมตตา คือ จิตคิดเมตตารักใคร่ปรารถนาให้ตนและสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขทั่วหน้ากัน
กรุณา คือ จิตคิดกรุณา เอ็นดูสงสารตนและคนอื่น
มุทิตา คือ จิตอ่อนน้อมพลายยินดีในกุศลของตนและคนอื่น
อุเปกขา คือ จิตคิดวางเฉยในสิ่งที่ควรปล่อยวางเฉย
นั่งขัดสมาธิ
ต่อนี้ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น อย่าให้ฟั่นเฟือนประนมมือไหว้แล้วระลึกถึงพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ แต่ในใจว่า
พุทโธ เม นาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
ธัมโม เม นาโถ พระธรรมเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
สังโฆ เม นาโถ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
แล้วกล่าวซ้ำอีกว่า
พุทโธ ๆ ธัมโม ๆ สังโฆ ๆ
แล้วปล่อยมือลงข้างหน้าบริกรรมภาวนาแต่คำเดียวว่า
พุทโธ ( ๓ หน)
ต่อจากนั้นให้นึกถึงลมหายใจเข้าออก คือให้นับลมเป็นคู่ๆดังนี้
พุท ลมเข้า โธ ลมออก
อย่างนี้ต่อไปจนถึง ๑๐ ครั้งแล้วให้ให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้คือ
๑ ลมเข้า พุทโธ หนหนึ่ง
๒ ลมออก พุทโธ หนหนี่ง
ภาวนาอย่างนี้ต่อไปจนถึง ๗ หน แล้วให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้คือ
ลมเข้า ลมออก ให้ภาวนา พุทโธ หนหนึ่ง
ทำอย่างนี้ไปจนถึง ๕ หน แล้วตั้งต้นใหม่อีกดังนี้คือ
ลมเข้า ลมออก ให้ภาวนา พุทโธ ๓ คำ
ทำอย่างนี้ต่อไปจนครบ ๓ วาระของลมเข้าลมออก ต่อนั้นให้บริกรรมแต่ พุทโธ อย่างเดียวไม่ต้องนับลมอีกต่อไป
วิธีการกำหนดรู้ลม
ปล่อยลมตามสบาย ทำใจให้นิ่ง ๆ ไว้ที่ลมหายใจ เข้าออกที่มีในช่องจมูก เมื่อลมออก อย่าส่งจิตออกตามลม เมื่อลมเข้า อย่าส่งจิตเข้าตามลมทำความรู้สึกอย่างกว้างขวางเบิกบาน แต่อย่าสะกดจิตให้มากเกินไป ให้ทำใจสบายๆ เหมือนเราหายใจออกไปในอากาศโปร่งฉะนั้นทำจิตให้นิ่งอยู่เหมือนเสาที่ปักไว้ริมฝั่งทะเลน้ำทะเลขึ้น เสาก็ไม่ขึ้นตาม น้ำทะเลลง เสาก็ไม่ลงตาม
หยุดคำบริกรรมภาวนา
เมื่อทำจิตนิ่งสงบได้ในขั้นนี้แล้วให้หยุดคำภาวนา พุทโธ นั้นเสีย กำหนดความรู้สึกไว้เฉพาะลมหายใจแล้วค่อยขยับจิตเลื่อนเข้าไปตามกองลม คือ กองลมสำคัญๆ อันจะทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆเช่น ทิพพจักขุ ตาทิพย์,ทิพพโสต หูทิพย์ฐ, เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอื่น, ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้, จุตูปปาตญาณ รู้จักความเกิดตายแห่งสัตว์ต่างๆ ,นานาธาตุวิชชา วิชาความรู้ในเรืองของธาตุต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องถึงอัตภาพร่างกาย อันจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
ประสานกองลม
ธาตุเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นจากฐานของลมหายใจ
ฐานที่ ๑ให้ตั้งจิตไว้ที่จมูก แล้วค่อยเลื่อนไปกลางหน้าผากอันเป็นฐานที่ ๒
ฐานที่ ๒ ทำความรู้สึกอย่างกว้างขวาง ทำจิตให้นิ่งไว้ที่หน้าผากแล้วกลับมาที่จมูก ให้เพ่งขึ้นลงในระหว่างจมูกกับหน้าผาก รายกับคนขึ้นภูเขาฉะนั้น ทำให้ได้สัก ๗ เที่ยวแล้วก็นิ่งไว้ที่หน้าผาก อย่าให้จิตลงมาที่จมูกอีก ต่อนั้นให้ตามเข้าไปในฐานที่ ๓
ฐานที่ ๓ ฐานที่ ๓ คือกลางกระหม่อมข้างนอก แล้วหยุดอยู่กลางกระหม่อม ทำความรู้สึกอย่างกว้างขวาง สูดลมในอากาศเข้าไปในศีรษะ กระจายลมครู่หนึ่ง จึงกลับลงมาที่หน้าผาก กลับไป กลับมา ในระหว่างหน้าผากกับกลางกระหม่อมอยู่เช่นนี้ สัก ๑๐ เที่ยว แล้วก็นิ่งอยู่กลางกระหม่อม
ฐานที่ ๔ ตามเข้าไปในฐานที่ ๔ อีกคือ ลงไปในสมองกลางกะโหลกศีรษะ ให้นิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง จึงเลื่อนจิตให้ออกไปที่กลางกระหม่อมข้างนอก กลับไป กลับมาติดต่อกันระหว่างกลางกระสมองกับกลางกระหม่อมข้างนอก แล้วก็นิ่งอยู่ที่สมอง ทำความรู้สึกให้กว้างขวาง กระจายลมอันละเอียดจากสมองให้ลงไปเบื้องต่ำ
เมื่อทำจิตมาถึงตอนนี้แล้ว บางทีก็จะเกิดนิมิตขึ้นเป็นต้นว่า รู้สึกขึ้นในศีรษะ แลเห็นหรือรู้สึกเสียวๆ ให้เย็นๆ ร้อนๆ ให้เป็นไอเป็นหมอกสลัวๆ ขึ้น บางทีก็มองเห็นกะโหลกศีรษะของตัวเอง ถึงอย่างนั้นก็อย่าได้มีความหวั่นไหวไปตามนิมิตที่ปรากฏ ถ้าเราไม่ปรารถนาทีจะให้เป็นเช่นนั้น ก็จะสูดลมเข้าไปยาวๆ ถึงหัวอก นิมิตเหล่านั้นก็จะหายไปทันที เมื่อเห็นนิมิตอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้วให้ตั้งสติรู้อยู่ทีนิมิต แต่ให้เอานิมิตเดียว สุดแท้แต่นิมิตอันใดเป็นทีสบาย เมื่อจับนิมิตได้แล้วให้ขยายนิมิตนั้นออกไปให้โตเท่าศีรษะ นิมิตที่ขาวสว่างนั้นมีประโยชน์แก่กาย แก่ใจ คือ เป็นลมบริสุทธิ์สะอาด ลมบริสุทธิ์สะอาดนี้ย่อมเป็นเครื่องฟอกโลหิตในร่างกายท่านได้อย่างดี สามารถจะบรรเทาหรือกำจัดทุกขเวทนาในร่างกายได้ เมื่อทำได้เท่าศีรษะของตนแล้ว ให้เลื่อนลงไปตั้งไว้ในฐานที่ ๕
ฐานที่ ๕ เมื่อวางไว้ในฐานที่ ๕ คือทรวงอกแล้ว ให้นึกเอานิมิตแห่งลมไปตั้งไว้ ขยายออกให้เต็มทรวงอกทำลมอันนั้นให้ขาวสว่าง กระจายลม กระจายแสงสว่างไปทั่วทุกขุมขน จนกว่าจะมองเห็นส่วนต่างๆ ของร่างกายปรากฏเป็นภาพขึ้นมาเองถ้าไม่ต้องการภาพอันนั้น ก็ให้สุดลมหายใจยาวๆ เสีย ๒-๓ ครั้ง ภาพนั้นก็จะหายไปทันทีแล้วทำให้จิตนิ่งอยู่โดยกว้างขวาง แม้จะมีนิมิตอะไรผ่านมาในรัศมีแห่งลม อย่าเพิ่งไปจับเอาอย่าทำจิตให้หวั่นไหวไปตามนิมิต ประคองจิต ไว้ให้ดี ทำจิตให้เป็นหนึ่ง พยายามตั้งจิตไว้ในอารมณ์อันเดียว คือ ลมหายใจอันละเอียดและขยายลมอันละเอียดนั้นให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย
เมื่อทำจิตถึงตอนนี้ จะค่อยเกิดวิชาความรู้ขึ้นตามลำดับ กายของเราก็จะเบาเหมือนปุยนุ่น ใจก็จะเอิบอิ่ม นิ่มนวล วิเวกสงัด ได้รับความสุขกายสบายจิตเป็นอย่างยิ่ง เมื่อต้องการวิชาความรู้ต่าง ๆ ก็ทำจิตให้นิ่ง วางอารมณ์ทั้งหมดให้เหลืออยู่แต่ความสว่างความว่าง อย่างเดียว
เมื่อประสงค์สิ่งใดในส่วนวิชาความรู้หรือนิมิตเป็นภาพปรากฏขึ้นทันที เรียกว่า มโนภาพ ถ้าจะให้ดีและชำนาญในสิ่งเหล่านี้ให้ศึกษากับท่านผู้เคยปฏิบัติในทางนี้จะดีมากเพราะวิชาตอนนี้ เป็นวิชาที่เกิดขึ้นจากสมาธิอย่างเดียวเท่านั้น
วิชาในเรื่องสมาธินั้นมีอยู่ ๒ แผนก เป็นไปด้วยกับโลกีย์อย่างหนึ่ง เป็นไปกับด้วยโลกุตรอย่างหนึ่ง วิชาโลกีย์ คือ ติดความรู้ความเห็นของตนเองนี้หนึ่ง ติดสิ่งทั้งหลายที่มาปรากฏให้เรารู้เราเห็นนี้อย่างหนึ่ง วิชาก็ดี สิ่งที่ให้เรารู้เราเห็นด้วยอำนาจแห่งวิชาก็ดีเป็นของจริงและของไม่จริงเจืออยู่ด้วยกันทั้งสิ้นแต่ของจริงในที่นี้เป็นส่วนสังขารธรรมทั้งสิ้นขึ้นชื่อว่าสังขารแล้ว ย่อมไม่เที่ยง ไม่มั่นคงถาวร
ฉะนั้น เมื่อต้องการโลกุตรต่อไป ให้รวมสิ่งที่เรารู้ เราเห็นทั้งหมดเข้ามาเป็นจุดอันเดียวคือ เอกัคคตารมณ์ ให้เห็นเป็นสภาพอันเดียวกันทั้งหมด เอาวิชาความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นให้มารวมอยู่ในจุด อันนั้นจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา แล้วอย่ายึดถือในสิ่งที่รู้ ที่เห็นมาเป็นของๆ ตน อย่ายึดความรู้ความเห็นที่เกิดจากตนมาเป็นของๆ ตน ให้ปล่อยวางเสียตามสภาพถ้าไปยึดถืออารมณ์ ก็เท่ากับยึดทุกข์ ยึดความรู้ของตนจะเกิดเป็นเหตุแห่งทุกข์คือ สมุทัย
ฉะนั้น จิตที่นิ่งสงบเป็นสมาธิแล้วเกิดวิชชา ๆ นั้นเป็นมรรค สิ่งทีเรารู้ต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นทุกข์ จิตเราอย่าเข้าไปยึดเอาวิชชา อย่าเข้าไปยึดเอาอารมณ์ที่มาแสดงให้เรารู้ ล่อยวางไปตามสภาพ ทำจิตให้สบายๆ ไม่ยึดจิต ไม่สมมุติจิตของตนว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้ายังสมมุติตนเองอยู่ตราบใด ก็เป็นอวิชชาอยู่ตราบนั้นเมื่อรู้ได้โดยอาการอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นโลกุตรขึ้นในตนจะเป็นบุญกุศลอย่างประเสริฐสูงสุดในฐานะที่เป็นมนุษย์พุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า
ถ้าจะสรุปให้สั้นเข้า หลักในการปฏิบัติก็มีดังนี้ คือ
1 กำจัดอารมณ์ที่ชั่วออกจากจิตให้หมด
2 ทำจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่ดี
3 อารมณ์ที่ดีต่างๆ ให้ต้อนเข้าไปรวมอยู่ในจุด อันเดียวที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์
4 พิจารณาอารมณ์หนึ่งนั้นให้เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ ตัวตน สัตว์บุคคลว่างเปล่า
5 วางอารมณ์ทีดีและอารมณ์ที่ชั่วไปตามสภาพของอารมณ์เพราะดีและชั่วย่อมอยู่ด้วยกัน มีสภาพเสมอกัน วางจิตไว้ตามสภาพของจิต รู้ไว้ตามสภาพแห่งรู้ รู้นั้นไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ นั้นแลคือ สันติธรรมดีก็รู้ ดีไม่ใช่รู้ รู้ไม่ใช่ดี ชั่วก็รู้ รู้ไม่ใช่ชั่ว ชั่วไม่ใช่รู้คือรู้ไม่ติดความรู้ รู้ไม่ติดสิ่งที่รู้ นั้นแหละคือ ธรรมชาติธาตุแท้อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมือนน้ำ ที่อยู่ในใบบัวฉะนั้นจึงเรียกว่า อสังขตะธาตุ เป็นธาตุแท้
เมื่อใครทำได้เช่นนี้ก็จะเห็นของดีวิเศษเกิดขึ้นในใจแห่งตนจะเป็นกุศลวาสนาบารมีของท่านผู้ปฏิบัติในทางสมถกัมมัฏฐานวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะได้ผล ๒ ประการกล่าวคือ โลกียผลที่จะให้สำเร็จประโยชน์อนามัยของร่างกายแห่งท่าน และคนอื่นๆ ทั่วไปในสากลโลกนี้ ประการหนึ่ง ประการที่ ๒ จะได้โลกุตรผลอันเป็นประโยชน์อนามัยในด้านจิตใจของท่าน มีความสุข ความเยือกเย็น และความราบรื่นชื่นบาน ก็จะถึงพระนิพพาน เป็นเบื้องหน้า ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อรรถาธิบายมาโดยย่อ พอเป็นหัวข้อปฏิบัติของท่านพุทธบริษัทผู้นับถือพระพุทธศาสนา หากท่านมีความสงสัยขัดข้องจากการปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าวไว้ในตำราเล่มนี้โดยประการใดๆ ต้องการจะศึกษาจากผู้ให้แนวความคิดที่กล่าวมานี้ ยินดีทีจะส่งเสริมชี้แจงข้อสงสัยของท่าน ตามกำลังความสามารถของผู้เขียนเพื่อให้สำเร็จสันติสุขในทางพระศาสนาโดยทั่วหน้ากัน
จบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น