วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อย่าคาดหมายผลที่จะพึงเกิดขึ้น

อย่าคาดหมายผลที่จะพึงเกิดขึ้น

การตั้งเป้าหรือคาดหมายผลในการภาวนานั้นเป็นเหตุให้กั้นจิตไม่ให้สงบได้ ดังนั้นจึงควรทำไปตามปกติเพื่อสร้างสมสติปัญญาไปตามลำดับ ข้อนี้ ดังจะเห็นได้จากคำสอนของครูบาอาจารย์เช่นดังที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้กล่าวไว้ใน หนังสือปฏิปทาพระธุดงค์กัมมัฏฐาน ดังมีข้อความดังนี้
“การบริกรรมภาวนาในธรรมบทใดก็ตาม กรุณาอย่าคาดหมายผลที่จะพึงบังเกิดขึ้นในเวลานั้น  เช่น ความสงบจะเกิดขึ้นในลักษณะนั้น นิมิตต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในเวลานั้น หรืออาจจะเห็นนรกสวรรค์ขุมใดหรือชั้นใดในเวลานั้น เป็นต้น นั่นเป็นการคาดคะเนหรือด้นเดาซึ่งเป็นการก่อความไม่สงบให้แก่ใจเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรจากการวาดภาพนั้นเลย และอาจทำใจให้ท้อถอยหรือหวาดกลัวไปต่างๆ  ซึ่งผิดจากความมุ่งหมายของการภาวนาโดยถูกทางที่ท่านสอนไว้

ที่ถูกควรตั้งจิตกับสติไว้เฉพาะหน้า  มีคำบริกรรมเป็นอารมณ์ของใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยมีใจกับสติต่ออยู่กับคำบริกรรม เช่น พุทโธ ๆ สืบเนื่องกันไปด้วยความมีสติ และพยายามทำความรู้สึกตัวอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ อย่าให้จิตเผลอตัวไปสู่อารมณ์อื่น  ระหว่างจิต สติ กำกับคำบริกรรมมีความสืบต่อกลมกลืนกันได้เพียงไร ยิ่งเป็นความมุ่งหมายของการภาวนาเพียงนั้น  ผลคือความสงบเย็นหรืออื่นๆ  ที่แปลกประหลาดไม่เคยพบเห็น  อันจะพึงเกิดขึ้นให้ชมตามนิสัยวาสนาในเวลานั้นจะเกิดขึ้นเอง  เพราะอำนาจของการรักษาจิตกับคำบริกรรมไว้ได้ด้วยสตินั่นแล จะมีอะไรมาบันดาลให้เป็นขึ้นไม่ได้”

วิธีนึกคำบริกรรมภาวนา

วิธีนึกคำบริกรรมภาวนา

วิธีนึกบริกรรมภาวนา นับว่าเป็นส่วนสำคัญมากในการภาวนา หากเราไม่รู้วิธีนึกคำบริกรรมที่ถูกต้องแล้ว การภาวนาแทนที่จะมีผลน่าพึงใจ กลับกลายเป็นว่างเปล่าผิดทาง ดังนั้นจึงจะขอนำเอาคำสอนที่พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวสอนไว้ในหนังสือ”ปฏิปทาพระธุดงค์กัมมัฏฐาน” มาให้ศึกษาดังต่อไปนี้


“วิธีนึกคำบริกรรมภาวนา การนึกคำบริกรรมภาวนานั้นจะนึกกับธรรมบทใดบทหนึ่งตามนิสัยชองดังกล่าวแล้วก็ได้ เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆ ๓ จบ แล้วกำหนดเอาเพียงบทเดียวติดต่อกันไปด้วยความมีสติ แต่จะกำหนดธรรมบทใดก็ตามนอกจากสามบทนี้ ก่อนจะเจริญธรรมบทนั้นๆ ทุกครั้ง ควรเจริญรำลึกธรรมสามบทคือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ ครั้ง อันเป็นองค์พระรัตนตรัยก่อน จากนั้นค่อยบริกรรมบทที่ตนต้องการต่อไป เช่น อานาปานสติ หรือ อัฐิ หรือ ตโจฯ เป็นต้น การที่ท่านให้มีคำบริกรรมภาวนาเป็นบทๆ กำกับใจในเวลานั้นหรือเวลาอื่นก็เพื่อเป็นอารมณ์เครื่องยึดของใจในเวลาต้องการความสงบ เพราะใจเป็นของละเอียดตามธรรมชาติ ทั้งยังไม่สามารถจะพึงตัวเองได้ เนื่องจากจิตยังไม่เป็นตัวของตัวโดยสมบูรณ์ดังพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน  จำต้องมีบทเป็นคำบริกรรมเพื่อผูกใจหรือเพื่อเป็นอารมณ์ของใจเวลานั้น”

วิธีตั้งจิตในการภาวนา

วิธีตั้งจิตในการภาวนา


การภาวนานั้น หากตั้งจิตไม่ถูกแล้ว การภาวนาก็จะไม่มีผลดีเท่าที่ควร จึงควรศึกษาวิธีการตั้งจิตหรือวางจิตที่ท่านสอนเอาไว้ ดังปรากฏในหนังสือ “ ปฏิปทาพระธุดงค์กัมมัฏฐาน” โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ดังนี้

“ การเริ่มต้นทางจิตภาวนราพึงตั้งความรู้สึก คือ จิตลงเฉพาะหน้าที่เรียกว่า ปัจจุบันธรรม  อันเป็นทางรู้ความเคลื่อนไหวของจิต ของธรรมารมณ์ต่างๆ ดีชั่ว ได้ดีในเวลานั้นมากกว่าในเวลาอื่นๆ คือ ตั้งจิตลงเฉพาะหน้า มีสติ คือ ความระลึกรู้อยู่กับใจอันเป็นการเตือนตนให้รู้ว่าจะเริ่มทำงานในขณะนั้น กรุณาระวังไม่ให้จิตส่งออกไปสู่อารมณ์ต่างๆ ทั้งอดีต อนาคต ทั้งดีและชั่ว ที่นอกจากงานบริกรรมภาวนาซึ่งกำลังทำอยู่ในเวลานั้น”

วิธีตั้งสติเฉพาะหน้า

วิธีตั้งสติเฉพาะหน้า


เรืองการตั้งสติเฉพาะหน้า หลายๆ คนอาจจะไม่เข้าใจว่าคือทำอย่างไร เพื่อให้ได้เข้าใจโดยกระจ่างชัด จะขอนำเอาคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวที่ท่านแนะนำเอาไว้ดังต่อไปนี้

“วิธีตั้งสติเฉพาะหน้า จิตเป็นผู้รู้โดยธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีความแยบคายใคร่ครวญในตัวเอง เป็นเพียงผู้รู้คิด รู้นึก รู้เย็น รู้ร้อน จากสิ่งสัมผัสต่างๆ เท่านั้น ไม่มีความแยบคายใคร่ครวญ ไม่รู้การพินิจพิจารณาและตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิดลงไปได้ คือ ไม่รู้จักผิดถูกชั่วดีโดยลำพังตนเอง จึงต้องอาศัยสติและปัญญารู้ตัว วินิจฉัยใคร่ครวญกำกับรักษา เพราะสติและปัญญามีอำนาจเหนือจิต สามารถรู้เท่าทันจิตที่คิดไปในอารมณ์ต่างๆ ได้ดี ฉะนั้น จึงควรกำหนดเอาสติ คือความระลึกรู้ชนิดหนึ่งที่มีอำนาจเหนือจิตนั้นมาไว้เฉพาะหน้า ทำหน้าที่กำหนดรู้และรักษาจิตไม่ให้ส่งไปอื่นจากอารมณ์ที่ภาวนา  การมีสติรักษาจิตอยู่ทุกระยะนั้น สติสัมปชัญญะจะพึงเป็นสมบัติที่ควรได้รับในวาระนั้น หรือในวาระต่อไปแน่นอน  การภาวนาด้วยบริกรรมกับธรรมบทใดบทหนึ่งนั้น  พึงให้เป็นไปตามจริตไม่ควรฝืน  ธรรมบทใดเป็นที่สบายใจในเวลานั้น  พึงนำธรรมบทนั้นมาบริกรรมภาวนาสืบต่อไป”

นั่งแล้วอย่ากังวลกับกาย

นั่งแล้วอย่ากังวลกับกาย

เมื่อภาวนาไปแล้วหลายคนอาจจะกังวลว่า กายเราจะยังตรงอยู่ไหมหนอ หากมีข้อสงสัยและข้องใจก็จงศึกษาวิธีการที่ พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัว ท่านได้แนะนำไว้ดังนี้ว่า

“ เวลาทำหน้าที่ภาวนาต่อไปแล้ว กรุณาทำความสนใจกับหน้าที่นั้นอย่างเดียว ไม่พึงกลับมาทำความกังวลรักษาท่าสมาธิที่กำหนดไว้เดิม โดยเกรงท่านั่งนั้นจะเคลื่อนจากอาการเดิม เป็นการก้มเกินไปหรือเงยเกินไป เอียงซ้ายเกินไป เอียงขวาเกินไป ซึ่งเป็นการกังวลกับอาการทางกายมากกว่าทางจิต สมาธิภาวนาจะดำเนินไม่สะดวก ดังนั้น พอเริ่มต้นทางจิตภาวนาแล้ว จึงไม่ควรเป็นกังวลกับทางกาย ตั้งหน้าทำงานทางจิตต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งการออกจากสมาธิภาวนา”

วิธีนั่งสมาธิ

วิธีนั่งสมาธิ

การนั่งสมาธินั้นพระพุทธองค์ตรัสสอนให้นั่งขัดสมาธิตามแบบดังที่เราเห็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธินั่นแหละ คือ เอาขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นขอนำเอาข้อความที่พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวได้สอนไว้ในหนังสือ ปฏิปทาพระธุดงค์กัมมัฏฐานว่า
“วิธีนั่งสมาธิภาวนาท่านสอนไว้ว่า พึงนั่งขัดสมาธิ คือนั่งขัดสมาธิตามแบบพระพุทธรูปองค์แทนศาสดา เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือทั้งสองไว้บนตักหรือบนสมาธิ ตั้งกายให้ตรงธรรมดา อย่าให้ก้มนักเงยนัก อย่าให้เอียงซ้ายเอียงขวาจนผิดธรรมดา ไม่กดหรือเกร็งอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งอันเป็นการบังคับกายให้ลำบาก ปล่อยวางอวัยวะทุกส่วนไว้ตามปกติ”