ลมหายใจดับไปในความรู้สึก
ในหนังสือ ปฏิปทาพระธุดงค์กัมมัฏฐานกล่าวไว้ดังนี้ว่า
“ลมหายใจดับไปในความรู้สึก ขณะภาวนาอานาปานสติในบางครั้ง
ที่สุดของลมคือดับไป
ที่สุดของใจคือรวมลงสนิท หมดความรับผิดขอบกับลม ตั้งอยู่เป็นเอกจิตมีอารมณ์เดียว
เพียงรู้อย่างเดียวไม่เกียวกับสิ่งใดต่อไปอีก ที่เรียกว่าจิตรวมสนิททางสมาธิภาวนา
แต่ผู้ภาวนาอานาปานสติ เมื่อเข้าถึงลมละเอียดและลมดับไปในความรู้สึกในขณะนั้น
เกิดตกใจด้วยความคิดหลอกตัวเองว่า “ลมดับต้องตาย” เพียงเท่านี้ลมก็กลับมีมา
และกลายเป็นลมหยาบไปตามเดิม จิตก็หยาบ สุดท้ายการภาวนาก็ไม่ก้าวไปถึงไหน
คงได้เพียงขั้นกลัวตายแล้วถอยจิตถอยลมขึ้นมาหาที่ตนเข้าใจว่าไม่ตายนี้เท่านั้น การภาวนาแบบนี้มีมากมายในวงปฏิบัติ
จึงได้เรียนไว้บ้าง เพราะอาจเกิดมีแต่ท่านที่ภาวนาอานาปานสติเป็นบางราย
แล้วอาจเสียท่าให้กับความหลอกลวงนี้ได้
การภาวนาเพื่อเห็นความจริงกับลมในอาปานสติ
กรุณากำหนดลมด้วยสติจนถึงที่สุดของลมและของจิต
จะเห็นความอัศจรรย์อย่างเด่นชัดขณะผ่านความกลัวตายในระยะที่เข้าใจว่าลมดับไปแล้วด้วยความกล้าหาญ
คือ ขณะเจริญอานาปานสติไปถึงลมละเอียดและลมดับไปในความรู้สึกขณะนั้น โปรดทำความเข้าใจว่า
แม้ลมจะดับไปจริงๆก็ตาม
เมื่อความรู้สึกคือใจยังครองตัวอยู่ในร่างนี้ อย่างไรก็ไม่ตายแน่นอน
ลมจะดับก็จงดับไป หรือะไรๆ ในกายจะดับไปตามลมก็จบดับไปตามธรรมชาติของตน
สำหรับใจผู้ไม่ดับไม่ตายไปกับสิ่งเหล่านั้น จะกำหนดดูให้รู้ทุกอย่างบรรดาที่ผ่านเข้ามาในความรู้สึกขณะนี้
แต่จะไม่เป็นกังวลกับอะไรที่เป็นสภาพเกิดๆ ดับๆ “