วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ที่ตั้งฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิต

ที่ตั้งฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิต

ในหนังสือปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐานกล่าวเอาไว้ในเรื่องฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิตดังนี้
“กรรมฐานบางประเภทอันเป็นอารมณ์ของจิตย่อมมีฐานเป็นตัวอยู่แล้ว  เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน มีฐานเป็นของตัวอยู่โดยเฉพาะ  ส่วนหนังบางส่วนที่ถูกกำหนดเป็นฐาน ย่อมทราบว่าอยู่ในที่เช่นไร สิ่งที่ถูกกำหนดนั้นๆ  พึงทราบไว้ว่ามีอยู่  อารมณ์แห่งกรรมฐานในที่เช่นนั้นๆ  สูงหรือต่ำประการใด  สิ่งนั้นๆ มีฐานของตนอยู่ตายตัว เช่น ฟังมีอยู่ในมุขทวาร  ผมตั้งอยู่บนศีรษะมีส่วนสูงเป็นที่อยู่ นอกนั้น เช่น หนัง ผม ขน เอ็น กระดูก  มีอยู่ในที่ทั่วไปตามแต่จะกำหนดเอาอาการใดเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานและอาการนั้นๆ  ตั้งอยู่ในที่เช่นไร เวลากำหนดสิ่งนั้น ๆ เป็นอารมณ์ตามฐานของตนที่ตั้งอยู่สูงหรือต่ำประการใด กรุณาทราบไว้ตามฐานของสิ่งนั้นๆ
เวลากำหนดอาการใดอาการหนึ่งที่กล่าวมาเป็นอารมณ์ในขณะภาวนา  พึงกำหนดเฉพาะอาการนั้นเป็นสำคัญกว่าความสู่งหรือต่ำที่กำหนดไว้เดิม   เช่นเดียวกับท่านั่งสมาธิที่เอนเอียงไปบ้างไม่สำคัญ  ความสูงหรือต่ำที่เรากำหนดไว้เดิมอย่างไร ก็ปล่อยตามสภาพเดิม อย่ายกกรรมฐานที่กำหนดแล้วว่าอยู่ในที่เช่นนั้นมาตั้งใหม่เรื่อย ๆ  โดยเข้าใจว่าเคลื่อนจากที่เดิม  ถ้ายกมาตั้งใหม่ตามความสำคัญของใจ  จะทำให้เป็นกังวลกับฐานนั้นๆ ไม่เป็นอันกำหนดภาวนากับกรรมฐานบทนั้นได้อย่างถนัดชัดเจน เช่น  กำหนดกระดูกศีรษะและเพ่งสิ่งนั้นเป็นอารมณ์  จนปรากฏเห็นเป็นภาพชัดเจนเหมือนกับดูด้วยตาเนื้อ  แต่แล้วเกิดความสำคัญขึ้นว่ากระดูกศีรษะนั้นได้เคลื่อนจากฐานบนมาอยู่ฐานล่างซึ่งผิดกับความจริง แล้วกำหนดใหม่ ดังนี้เป็นต้น  ซึ่งเป็นการสร้างความลูบคลำสงสัยให้แก่ใจอยู่เสมอ ไม่มีเวลาพิจารณาอาการนั้นๆ ให้แนบสนิทลงได้
ที่ถูกควรกำหนดอาการนั้น ๆ ให้อยู่ในความรู้สึกหรือความเห็นภาพแห่งอาการนั้นๆ  ด้วยความรู้สึกทางสติไปตลอดสาย แม้ภาพของอาการนั้นๆ  จะแสดงอาการใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงหรือแสดงอาการแตกสลายไป  ก็ควรกำหนดรู้ไปตามอาการของมัน โดยไม่คำนึงถึงความสูงต่ำที่เคยกำหนดไว้เดิม  การทำอย่างนี้จะทำให้จิตแนบสนิทและเกิดความสลดสังเวชไปกับอาการที่กำหนดซึ่งแสดงอาการแปรสภาพให้เห็นอย่างเต็มใจ “


ไม่มีความคิดเห็น: