วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลมหายใจดับไปในความรู้สึก

ลมหายใจดับไปในความรู้สึก

ในหนังสือ ปฏิปทาพระธุดงค์กัมมัฏฐานกล่าวไว้ดังนี้ว่า
“ลมหายใจดับไปในความรู้สึก ขณะภาวนาอานาปานสติในบางครั้ง ที่สุดของลมคือดับไป  ที่สุดของใจคือรวมลงสนิท หมดความรับผิดขอบกับลม  ตั้งอยู่เป็นเอกจิตมีอารมณ์เดียว เพียงรู้อย่างเดียวไม่เกียวกับสิ่งใดต่อไปอีก ที่เรียกว่าจิตรวมสนิททางสมาธิภาวนา แต่ผู้ภาวนาอานาปานสติ เมื่อเข้าถึงลมละเอียดและลมดับไปในความรู้สึกในขณะนั้น เกิดตกใจด้วยความคิดหลอกตัวเองว่า “ลมดับต้องตาย” เพียงเท่านี้ลมก็กลับมีมา และกลายเป็นลมหยาบไปตามเดิม จิตก็หยาบ สุดท้ายการภาวนาก็ไม่ก้าวไปถึงไหน คงได้เพียงขั้นกลัวตายแล้วถอยจิตถอยลมขึ้นมาหาที่ตนเข้าใจว่าไม่ตายนี้เท่านั้น  การภาวนาแบบนี้มีมากมายในวงปฏิบัติ จึงได้เรียนไว้บ้าง เพราะอาจเกิดมีแต่ท่านที่ภาวนาอานาปานสติเป็นบางราย แล้วอาจเสียท่าให้กับความหลอกลวงนี้ได้

การภาวนาเพื่อเห็นความจริงกับลมในอาปานสติ กรุณากำหนดลมด้วยสติจนถึงที่สุดของลมและของจิต  จะเห็นความอัศจรรย์อย่างเด่นชัดขณะผ่านความกลัวตายในระยะที่เข้าใจว่าลมดับไปแล้วด้วยความกล้าหาญ คือ ขณะเจริญอานาปานสติไปถึงลมละเอียดและลมดับไปในความรู้สึกขณะนั้น โปรดทำความเข้าใจว่า แม้ลมจะดับไปจริงๆก็ตาม  เมื่อความรู้สึกคือใจยังครองตัวอยู่ในร่างนี้ อย่างไรก็ไม่ตายแน่นอน ลมจะดับก็จงดับไป หรือะไรๆ ในกายจะดับไปตามลมก็จบดับไปตามธรรมชาติของตน สำหรับใจผู้ไม่ดับไม่ตายไปกับสิ่งเหล่านั้น จะกำหนดดูให้รู้ทุกอย่างบรรดาที่ผ่านเข้ามาในความรู้สึกขณะนี้ แต่จะไม่เป็นกังวลกับอะไรที่เป็นสภาพเกิดๆ ดับๆ “

การกำหนดลมหายใจและฐานที่ตั้งของลม

การกำหนดลมหายใจและฐานที่ตั้งของลม

ในหนังสือปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐานได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

“การกำหนดลมหายใจและฐานที่ตั้งของลมก็เหมือนกัน เมื่อกำหนดลมทีแรกได้กำหนดไว้ในที่เช่นไร เช่น กำหนดที่ดั้งจมูกเป็นต้น  เวลาดูลมเพลินไปด้วยความสนใจ อาจเกิดความสงสัยขึ้นมาในเวลานั้นได้ว่า ลมได้เคลื่อนไปจากดั้งจมูกไปอยู่ในฐานอื่น เป็นต้น แล้วตั้งลมที่ดั้งจมูกใหม่ ดังนี้ เรียกว่าก่อกวนตนเองด้วยความสำคัญ จะไม่เกิดผลได้เลย  เพราะความสงสัยมาแย่งเอาไปเสียหมด เพื่อความถูกต้องและหายกังวลในฐานต่างๆ จึงควรปฏิบัติตามที่กล่าวมาในอาการอื่นๆ  คือพึงทำความรู้ชัดในกองลมที่ผ่านเข้าผ่านออกด้วยสติทุกระยะไปจนถึงที่สุดของลม แม้ฐานของลมจะปรากฏว่าสูงต่ำ  หรือผิดไปจากฐานเดิมตามความเข้าใจก็ตาม จะไม่ทำให้การกำหนดนั้นเสียไปแม้แต่น้อยเลย  ยิ่งจะทำให้ลมกับจิตสนิทแนบต่อกันไปตลอดที่สุดของการภาวนาหรือที่สุดของลม”

ที่ตั้งฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิต

ที่ตั้งฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิต

ในหนังสือปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐานกล่าวเอาไว้ในเรื่องฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิตดังนี้
“กรรมฐานบางประเภทอันเป็นอารมณ์ของจิตย่อมมีฐานเป็นตัวอยู่แล้ว  เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน มีฐานเป็นของตัวอยู่โดยเฉพาะ  ส่วนหนังบางส่วนที่ถูกกำหนดเป็นฐาน ย่อมทราบว่าอยู่ในที่เช่นไร สิ่งที่ถูกกำหนดนั้นๆ  พึงทราบไว้ว่ามีอยู่  อารมณ์แห่งกรรมฐานในที่เช่นนั้นๆ  สูงหรือต่ำประการใด  สิ่งนั้นๆ มีฐานของตนอยู่ตายตัว เช่น ฟังมีอยู่ในมุขทวาร  ผมตั้งอยู่บนศีรษะมีส่วนสูงเป็นที่อยู่ นอกนั้น เช่น หนัง ผม ขน เอ็น กระดูก  มีอยู่ในที่ทั่วไปตามแต่จะกำหนดเอาอาการใดเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานและอาการนั้นๆ  ตั้งอยู่ในที่เช่นไร เวลากำหนดสิ่งนั้น ๆ เป็นอารมณ์ตามฐานของตนที่ตั้งอยู่สูงหรือต่ำประการใด กรุณาทราบไว้ตามฐานของสิ่งนั้นๆ
เวลากำหนดอาการใดอาการหนึ่งที่กล่าวมาเป็นอารมณ์ในขณะภาวนา  พึงกำหนดเฉพาะอาการนั้นเป็นสำคัญกว่าความสู่งหรือต่ำที่กำหนดไว้เดิม   เช่นเดียวกับท่านั่งสมาธิที่เอนเอียงไปบ้างไม่สำคัญ  ความสูงหรือต่ำที่เรากำหนดไว้เดิมอย่างไร ก็ปล่อยตามสภาพเดิม อย่ายกกรรมฐานที่กำหนดแล้วว่าอยู่ในที่เช่นนั้นมาตั้งใหม่เรื่อย ๆ  โดยเข้าใจว่าเคลื่อนจากที่เดิม  ถ้ายกมาตั้งใหม่ตามความสำคัญของใจ  จะทำให้เป็นกังวลกับฐานนั้นๆ ไม่เป็นอันกำหนดภาวนากับกรรมฐานบทนั้นได้อย่างถนัดชัดเจน เช่น  กำหนดกระดูกศีรษะและเพ่งสิ่งนั้นเป็นอารมณ์  จนปรากฏเห็นเป็นภาพชัดเจนเหมือนกับดูด้วยตาเนื้อ  แต่แล้วเกิดความสำคัญขึ้นว่ากระดูกศีรษะนั้นได้เคลื่อนจากฐานบนมาอยู่ฐานล่างซึ่งผิดกับความจริง แล้วกำหนดใหม่ ดังนี้เป็นต้น  ซึ่งเป็นการสร้างความลูบคลำสงสัยให้แก่ใจอยู่เสมอ ไม่มีเวลาพิจารณาอาการนั้นๆ ให้แนบสนิทลงได้
ที่ถูกควรกำหนดอาการนั้น ๆ ให้อยู่ในความรู้สึกหรือความเห็นภาพแห่งอาการนั้นๆ  ด้วยความรู้สึกทางสติไปตลอดสาย แม้ภาพของอาการนั้นๆ  จะแสดงอาการใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงหรือแสดงอาการแตกสลายไป  ก็ควรกำหนดรู้ไปตามอาการของมัน โดยไม่คำนึงถึงความสูงต่ำที่เคยกำหนดไว้เดิม  การทำอย่างนี้จะทำให้จิตแนบสนิทและเกิดความสลดสังเวชไปกับอาการที่กำหนดซึ่งแสดงอาการแปรสภาพให้เห็นอย่างเต็มใจ “


สนใจแต่ในคำบริกรรมของตน

สนใจแต่ในคำบริกรรมของตน

คำบริกรรมสำคัญมาก เพราะถ้าหลงลืมคำบริกรรมแล้ว การภาวนาก็จะไม่มีผลทันที ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน”ปฏิปทาพระธุดงค์กัมมัฏฐาน” ว่า
“ ขณะนึกคำบริกรรมภาวนาที่เป็นความถูกต้อง ท่านนักภาวนาควรสนใจกับคำบริกรรมของตน โดยเฉพาะในขณะนั่งบริกรรมภาวนาไม่ควรเป็นกังวลกับท่านั่งที่กำหนดไว้ถูกต้องแต่ต้นแล้ว  คือขณะที่กำลังภาวนาที่กำลังทำความกำหนดจดจ่ออยู่กับงานที่ทำนั้น  กายอาจจะเอียงหน้าเอียงหลังเอียงซ้ายเอียงขวาไปบ้าง เพราะขาความสนใจกับกาย  เวลานั้นมีความสนใจกับการภาวนาโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้กายจะเอียงไปบ้างก็ตาม  แต่จิตขออย่าให้เอียงไปจากอารมณ์ภาวนาเป็นการดี  เพราะจุดสำคัญที่ต้องการจริงๆ อยู่กับภาวนา ถ้าจิตมากังวลอยู่กับกายเรื่อยๆ กลัวจะเอนหน้าเอียงหลัง ทำให้จิตเผลอตัวจากการภาวนา ไม่อาจเข้าสู่ความละเอียดเท่าที่ควรได้ตามกำลังของตน

เพื่อให้จิตได้ทำหน้าที่เต็มความสามารถของตนในเวลานั้นจึงไม่ควรกังวลกับกายภายนอก แต่ควรทำความจดจ่อต่อคำภาวนาอย่างเดียว  จนจิตสงบและรู้เหตุผู้ผลของตนได้ตามความมุ่งหมาย  แม้ขณะจิตสงบรวมลงสู่ภวังค์คือที่พักผ่อน ตัวหมดความรู้สึกกับสิ่งภายนอกมีกายเป็นต้นก็ตาม เวลาจิตถอนขึ้นมาแล้วเห็นกายเอียงไปในลักษณะต่างๆ  ก็ไม่ควรสงสัยข้องใจว่ากายนั้นไม่เที่ยงตรงตามที่กำหนดไว้ การกังวลทางกายและกังวลทางใจ  นอกจากก่อความวุ่นวายให้แก่จิตที่ไม่รู้หน้าที่ของตนแล้ว ผลที่จะพึงได้รับในเวลานั้นจึงไม่มีอะไรปรากฏยิ่งไปกว่า กายกับจิตที่ยุ่งกันในเวลาภาวนาโดยไม่รู้สึกตัว จึงควรทำความเข้าใจไว้แต่ขณะเริมลงมือภาวนา”